โรคซึมเศร้า

ซึมเศร้า ภัยเงียบใกล้ตัว น่ากลัวกว่าที่คุณ

หลายคุณคงสงสัยอยู่ว่า ตัวคุณเองนั้น เป็นโรคซึมเศร้ารึป่าว??? อาการเริ่มต้นจากอะไร สาเหตุของโรคมาจากไหน แล้วทำไม ซึมเศร้า ถึงเป็นโรคที่น่ากลัว สามารถรักษาได้หรือไม่

วันนี้ สะกิด มาเม้าท์ ได้หาคำตอบของ โรคซึมเศร้า อาการยอดฮิตติดอันดับต้นๆ ของไทยมาฝากทุกท่านแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปอ่านบทความพร้อมกันเลย

โรค ซึม เศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นอาการผิดปกติของอารมณ์ หรือเป็นโรคทางจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่างๆ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางจิตได้มากมาย การดำเนินชีวิตตามปกติอาจทำได้อย่างยากลำบากหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล และหากปล่อยไว้ ผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้

ซึมเศร้า ไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายกาย หรือไม่สบายใจ ที่สามารถสลัดออกไปได้ง่ายๆ ผู้ป่วยที่มี ภาวะซึมเศร้า ควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถอดใจการรักษา เช่น การทานยาหรือจิตบำบัด หรือทั้งสองอย่าง สามารถช่วยผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้กลับมามีอาการที่ดีขึ้น คนทุกคนต่างเคยรู้สึกเครียด รู้สึกผิดหวัง หรือมีอารมณ์เศร้าหมอง เหมือนๆ กัน เมื่อเผชิญกับความสูญเสีย หรือปัญหาอุปสรรคในชีวิต ความรู้สึกเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติหากเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ถ้าความเครียด และความเศร้าเหล่านี้ ดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคนๆ นั้น กำลังเป็นโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

  1. พันธุกรรม มีประวัติสมาชิกในครอบครัว เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีลักษณะนิสัยเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ รวมถึง การมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
  2. สภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิทธิพล จากคนใกล้ชิดรอบข้าง

โรคซึมเศร้า อาจเกิดจากมีปัจจัยมากระตุ้น ที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาก่อน  หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยมากระตุ้น แต่กรณีนี้เกิดขึ้นได้น้อย

ความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า

ความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงตามมา ตั้งแต่ โรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าคนปกติ เสียชีวิตจากสารเสพติด หรือแม้กระทั่ง การฆ่าตัวตาย

ประเภทของโรคซึมเศร้า

  1. โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว คือ มีอาการซึมเศร้าอย่างเดียว
  2. โรคซึมเศร้าแบบสองขั้ว หรือ ที่เรียกว่า ไบโพลาร์ ผู้ป่วยมีอาการทางอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ มากกว่าคนทั่วไป จนเกิดผลเสีย

ซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้า

หากคุณสงสัยว่า ตัวเอง หรือคนใกล้ชิด เป็นโรคซึมเศร้า ให้ลองสังเกตอาการดังต่อไปนี้ เป็นเวลาติดต่อกัน 7-14 วัน หากมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็น โรคซึมเศร้า

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้า (มีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย อยู่ตลอดเวลา)
  2. เบื่อ หมดความสนใจ หรือ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ
  3. นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับยากมาก
  4. เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง
  5. เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป
  6. รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด
  7. ไม่มีสมาธิ หรือลังเลใจไปหมด
  8. ทำอะไรช้าลง พูดช้า หรือกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง
  9. มีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

นอกจากจะดูว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อย 5 ข้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 14 วันแล้ว แพทย์ยังต้องสอบถามรายละเอียดของอาการและเรื่องราวจากผู้ป่วยหรือบางครั้งจากญาติใกล้ชิดร่วมด้วย เพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยและแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆที่คล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า รวมถึงสอบถามประวัติความเจ็บป่วยอื่นๆเพื่อดูว่าเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าหรือไม่

โรคซึมเศร้า

การรักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาหลักคือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มแก้ซึมเศร้าหากมีความจำเป็น โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและยิ่งมารับการรักษาเร็วเท่าไรอาการก็จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาแก้โรคซึมเศร้า

ปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่ถือว่าปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ผู้ป่วยบางคนกลัวผลข้างเคียงจนไม่กล้ากินยาตามที่แพทย์สั่งจนครบ เพราะกลัวว่าจะติดยาหรือกลัวว่ายาทำให้มีอาการมึนงงไปหมด ความจริงแล้วยาแก้ซึมเศร้าไม่มีการติดยาและไม่ทำให้เกิดอาการมึนงงอย่างที่เข้าใจกัน

โรคซึมเศร้า

การป้องกันโรคซึมเศร้าทำได้โดยปฏิบัติหลักสุขศึกษา

  1. อาหาร ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ หากขาดสารอาหารบางอย่างไปจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เช่น โอเมก้า 3 วิตามิน อี ซี ดี ทองแดง ธาตุเหล็ก
  2. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 30-40 นาที เป็นการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็วก็ได้
  3. การพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องกาย ให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงหรือยังเพลียอยู่
  4. การทำสมาธิ (Mindfulness) เพื่อผ่อนคลายจิตใจ มีงานวิจัยมากมายพบว่าการทำสมาธิช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียดได้
  5. การฝึกคิดบวก ป้อนความคิดทางบวกให้กับตัวเองอยู่เสมอเพื่อสร้างให้จิตใจมีความเข้มแข็ง เอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้